การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงวัยชราต้องนอนหลับอย่างพอเพียง ในคนปกติมีการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆของร่างกายที่มีลักษณะเฉพาะ มีการปรับตัวให้เข้ากับกลางวันและกลางคืน โดยใช้วงจรหลับตื่นเป็นตัวกำหนดเพื่อความอยู่รอด การหลับและตื่นมีความแตกต่างกันตามอายุ โดยเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่องตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวัยชรา เราจะพบว่าทารกแรกเกิดใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับ วันละประมาณ 16-20 ชั่วโมง เมื่อเข้าสู่วัยเรียนการนอนก็จะลดลงเหลือ 9-10 ชั่วโมง เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก็จะใช้เวลาในการนอนเพียง 5-6 ชั่วโมง แต่การนอนหลับของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยชราการนอนหลับจะแตกต่างและเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือเริ่มมีการตื่นในช่วงกลางดึกบ่อยขึ้นจะหลับไม่ได้รวดเดียวถึงเช้าเหมือนวัยหนุ่มสาว อาจมีหลับในช่วงกลางวันเพิ่มมากขึ้นในบางวัน
การขาดการนอนหลับในคนปกติสามารถทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของคนผู้นั้นได้ เช่น มีอาการมึนงง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หงุดหงิด สมาธิไม่ดี การตัดสินใจแย่ลงเป็นต้น ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยชราจะมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการนอนหลับทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เหมือนการเลี้ยงดูปลาถ้าให้ความเอาใจใส่น้อยให้อาหารไม่ดี ปลาก็จะโตไม่เต็มที่หรือไม่สมบูรณ์อาจมีโรคแทรกได้ การขาดการนอนหลับในคนที่มีโรคประจำตัวอาจจะทำให้โรคหรืออาการของโรคที่มีอยู่นั้นเพิ่มมากขึ้นหรือกำเริบขึ้น ดังนั้นในทุกคนทุกวัยถ้าไม่เอาใจใส่สุขอนามัยของการนอนหลับแล้วสุขภาพของคนก็จะแย่ลง เราสามารถทำให้คุณภาพการนอนเปลี่ยนแปลงดีขึ้นได้ด้วยการเอาใจใส่ให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ สุขภาพกายและสุขภาพใจก็จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การปฏิบัติตนและการฝึกพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้นอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้มีสุขอนามัยของการนอนหลับที่ดี ซึ่งเราสามารถปฏิบัติได้มีดังนี้
1. หลับและตื่นให้เป็นเวลาแม้ในวันหยุดเพื่อให้เกิดความเคยชิน ห้องที่นอนควรมืดและเงียบ หลีกเลี่ยงแสงจ้าและสว่างมากในเวลานอน ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไปเพราะจะทำให้หลับไม่สนิท
2. ไม่ทำกิจกรรมอื่นในที่นอนเพราะจะทำให้นาฬิกาของการนอนสับสน ที่นอนไม่ใช่ที่อ่านหนังสือหรือดูทีวี ถ้านอนไม่หลับภายหลังเข้านอน 20-30 นาที ให้ลุกไปทำกิจกรรมอื่นก่อน เช่นฟังเพลงเบาๆ หรืออ่านหนังสือเพื่อให้ผ่อนคลาย
3. ไม่นอนกลางวัน (ถ้าจำเป็นไม่ควรนอนเกิน 30 นาที) เพราะจะทำให้รบกวนช่วงเวลานอนในตอนกลางคืนได้
4. ไม่ควรออกกำลังกายใกล้เวลานอน เพราะการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นซึ่งจะกระตุ้นให้สมองไม่หลับ จึงควรออกกำลังกายเบาๆ หลังจากตื่นนอนตอนเช้าอย่างน้อย 15 นาที เพื่อช่วยให้สมองและร่างกายตื่นตัวทำให้ให้การปฏิบัติภารกิจประจำวันดีขึ้น และอาจออกกำลังกายในตอนเย็นหลังเลิกงานเพื่อช่วยคลายความตึงเครียดจากการทำงาน แต่ไม่ควรปฏิบัติใกล้เวลานอน
5. หลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับ เพราะจะทำให้เกิดความเคยชินกับการใช้ยา
6. ควรหลีกเลี่ยงอาหารหนักในมื้อเย็น เช่นอาหารประเภทเนื้อสัตว์หรือมีโปรตีนมาก หากจำเป็นต้องทานก่อนนอนควรเป็นนมสดหรือน้ำผลไม้เท่านั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น